เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมค่ายกิจกรรมฤดูร้อนสำหรับเด็กแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ เห็นความน่าสนใจหลายประการของค่ายนี้ จนอยากจะนำมาเล่าให้ฟัง
เริ่มจากการจัดแบ่งกิจกรรมในค่ายออกเป็นส่วนๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมด้าน กีฬา กิจกรรมด้านภาษาและกิจกรรมด้านศิลปะ และให้เด็กๆ เป็นคนเลือกเองตามความสนใจว่าอยากจะเข้าร่วมกับค่ายกิจกรรมไหน โดยค่ายนี้มีทุกวันเสาร์ ตั้งแต่ 9.00-12.00 น. เป็นเวลา 7 เสาร์ติดต่อกัน
เด็กๆ ทีเข้าร่วมกิจกรรมในค่ายนี้ เป็นนักเรียนอายุตั้งแต่ 8 – 12 ปี ซึ่งสมัครผ่านมาทางแต่ละโรงเรียนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะเริ่มต้นด้วยการเล่นเกมละลาย พฤติกรรม (ซึ่งสนุกมากๆ) ความสำคัญของการละลายพฤติกรรมนี้มีความจำเป็นมากโดยเฉพาะเด็กในค่ายล้วนมาจากต่างที่ต่างโรงเรียนกัน ถ้าเขายังไม่คุ้นเคยกัน เด็กจะเกร็ง ไม่กล้าร่วมกิจกรรมอะไร ต่างคนต่างจะรอดูให้เพื่อนขยับก่อนเลยกลายเป็นว่า เมื่อเพื่อนคนอื่นไม่ทำ เขาก็จะไม่ทำ เขาจะไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าพูดไม่กล้าถาม ดังนั้น เกมละลายพฤติกรรมเพื่อให้ทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกัน จึงเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการทำค่ายกิจกรรมนี้
ในวันที่ผมไปเยี่ยมชมค่ายนั้น นอกจากกิจกรรมละลายพฤติกรรมแล้ว ทางค่ายยังได้จัดกิจกรรมพิเศษให้น้องๆ ได้ยืดเส้นยืดสายด้วย คือมีนักเต้น B-Boy ระดับแชมป์ มาสอนเด็กๆ ให้ได้กระโดดโลดเต้นไปด้วย
ซึ่งปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ เป็นอย่างมาก ผมยืนดูและอดจะขยับแข้งขยับขาร่วมสนุกไปกับเด็กๆ ด้วยไม่ได้ แต่เด็กๆ เต้นก็น่ารักน่าเอ็นดูดีอยู่นะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่า ช่วงผมแอบขยับเต้นตามไปด้วยนี่ คนอื่นๆ จะมองผมน่ารักเหมือนเด็กๆ เต้น หรือเปล่าก็ไม่รู้นะ (ฮ่าๆ)
สิ่งที่ผมให้ความสนใจมากๆ ในการเยี่ยมชมค่ายกิจกรรมครั้งนี้คือตัว “ผู้สอน” ผมเองในฐานะที่เป็นครูบาอาจารย์ จึงรู้ว่าความสำเร็จหรือล้มเหลวของค่ายฤดูร้อนนั้น ขึ้นอยู่กับตัว “ผู้สอน” เป็นสำคัญเพราะหากผู้สอนมที่เน้นแต่วิชาการ เด็กก็จะค่อยๆ หายไปเพราะเบื่อหน่ายไม่อยากมาร่วมในค่าย แต่หากผู้สอนเน้นแต่กิจกรรมสนุกๆ พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆ ก็จะบ่นได้ว่าทำไมไม่มีการสอนวิชาการเลย ดังนั้นการที่จะทำให้ทั้งสองสิ่งนี้สมดุลกันได้ ต้องถือว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ผู้สอนจะต้องมี
ในวันที่ผมไปเยี่ยมชมค่ายกิจกรรมนั้น ผมมีโอกาสได้พบปะกับน้องๆ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ที่อาสาเข้ามาเป็นผู้สอนในค่ายฤดูร้อนแห่งนี้ น้องๆ เหล่านี้เป็นเด็ก นักเรียนทุนบุญรอด ที่เป็นทุนการศึกษาแบบให้เปล่ากับนักเรียนระดับปริญญาตรีที่มีผลการเรียนดีแต่ยากจน
ผมสังเกตเห็นได้ชัดว่านักศึกษาที่อาสามาสอนในค่ายแห่งนี้ แต่ละคนล้วนมีความกระตือรือร้นและมีความสุขอย่างเห็นได้ชัดเมื่ออยู่ท่ามกลางเด็กๆ พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้นำให้เด็กเล่นเกมสนุกๆ ได้อย่างลื่นไหล ไม่มีเขินอาย ผมยังแอบนึกว่า ถ้าผมเป็นผู้สอน ผมจะกล้ากระชากวัยเข้าไปร่วมกิจกรรมกับเด็กเล็กๆ แบบนี้ได้ไหม
การสอนเด็กเล็กๆเป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย ต้องใช้สารพัดเทคนิคในการจูงใจและต้องมีศิลปะในการสื่อสารเป็นอย่างมาก แต่นักศึกษาเหล่านี้กลับทำออกมาได้ดีเกินคาด
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าพวกเขาจะเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศเพราะเขาไม่ได้แค่ตั้งหน้าตั้งตาเรียนหนังสือเพื่อให้ได้เกรดดีๆ แต่พวกเขายังได้ฝึกฝน ความเป็นครู เป็นผู้นำ ที่มีศิลปะในการจูงใจและสื่อสาร
ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นในชีวิตการทำงานต่อไป เพราะไม่ว่าเราจะไปทำงานอะไรหากไร้ซึ่งทักษะในการจูงใจและสื่อสาร ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้
นอกจากความสนุกสนานความรู้ และประสบการณ์นอกห้องเรียน ที่เด็กๆ ในค่ายจะได้รับกลับไปบ้านแล้ว ผมมองว่าค่ายกิจกรรมแบบนี้ยังเป็นที่ฝึกฝนประสบการณ์ดีๆ ให้กับนักศึกษาที่อาสามาสอนอีกด้วย Singha Summer Camp ถือเป็นค่ายกิจกรรมฤดูร้อนที่สร้างสรรค์ประโยชน์ แบบ “ทูอินวัน” (2 in 1)คือได้ประโยชน์ทั้งนักศึกษาที่เป็น “ผู้ให้” (ความรู้) และเด็กๆ นักเรียนที่เป็น “ผู้รับ” (ความรู้)ใจผมอยากให้มีค่ายกิจกรรมฤดูร้อนแบบนี้เกิดขึ้นมากๆ ในบ้านเรา เพราะ ยิ่งมีมากเท่าไรยิ่งทำให้เด็กๆ และเยาวชนได้รับประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น