ช่วงนี้ผมมักได้ยินคำว่า ตรรกะป่วย เมื่อมีคนพูดถึงสังคมไทย เพราะคำว่า ตรรกะ นี้เองที่
ทำให้ผมฉุกคิดถึงคำภาษาอังกฤษ คู่หนึ่ง ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้ โดยขอเริ่มที่คำว่า
ทำให้ผมฉุกคิดถึงคำภาษาอังกฤษ คู่หนึ่ง ที่ผมอยากนำมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้ โดยขอเริ่มที่คำว่า
Logic (อ่านว่า ลอ จิก) แปลว่า ตรรกะ
คำนี้เป็นคำนาม แปลว่า “ตรรกะ” ถึงตอนนี้ อาจมีบางคนถามผมต่อไปอีกว่า ช่วยแปลไทยเป็นไทยให้หน่อยสิว่า ว่า แล้วไอ้ “ตรรกะ” นี้หมายถึงอะไร คำว่า “ตรรกะ” นี้ แปลไทยเป็นไทยได้ว่า เป็น กระบวนการคิด แบบที่เป็นเหตุเป็นผล มีลำดับขั้นตอน ดังนั้นหากใครว่า คุณตรรกะป่วย นั่นหมายถึงเขากำลังบอกว่า คุณเป็นคนที่คิดอะไรไม่ค่อยจะเป็นเหตุเป็นผล พูดมาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ที่ว่า อัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เรืองนามของโลก เคยถามนักเรียนของเขาว่า มีช่างซ่อมปล่องไฟสองคน ลงไปซ่อมปล่องไฟเก่าแก่แห่งหนึ่ง พอซ่อมเสร็จพวกเขาก็ปีนออกมาจากปล่องไฟ ปรากฏ ช่างคนหนึ่งตัวสะอาด ส่วนช่างอีกคน เนื้อตัวเต็มไปด้วยเขม่าควันไฟ ไอสไตน์จึงถามนักเรียนว่า คนไหนควรจะไปอาบน้ำก่อน? นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า “คนที่ตัวสกปรกเลอะด้วยเขม่าควันครับ”
แต่ ไอสไตน์ กลับพูดว่า ” อย่างนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้น คุณลองคิดดูให้ดีนะ คนที่ตัวสะอาด เห็นอีกคนที่ตัวสกปรกเต็มไปด้วยเขม่าควัน เขาก็ต้องคิดว่าตัวเองออกมาจาก ปล่องไฟเก่าเหมือนกัน ตัวเขาเองก็คงต้องตัวสกปรกเหมือนกันแน่ๆ ส่วน อีกคนเห็นฝ่ายตรงข้ามตัวสะอาด ก็ต้องคิดว่า ตัวเองก็คงจะต้องสะอาดเหมือนกัน” ถึงตอนนี้ ไอสไตน์ถามพวกนักเรียนอีกครั้ง ว่า “ใครที่จะไปอาบน้ำก่อนกัน? ” นักเรียนคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยความตื่นเต้นว่า “ผมรู้แล้ว!! พอคนตัวสะอาดเห็นอีกคนสกปรก ก็นึกว่าตัวเองต้องสกปรกแน่ ๆ แต่คนที่ตัวสกปรก เห็นอีกคนสะอาด ก็นึกว่าตัวเองไม่สกปรก ดังนั้น คนที่ตัวสะอาดต้องรีบวิ่งไปอาบน้ำก่อนแน่นอน ถูกต้องไหมครับ?” ไอสไตน์กวาดสายตามองไปที่นักเรียนทุกคน ซึ่งล้วนแต่เห็นด้วยกับคําตอบนี้
แต่ ไอสไตน์ ค่อยๆ พูดขึ้นอย่างมีหลักการและเหตุผล ” คําตอบนี้ผิด เพราะช่างทั้งสองคนออกมาจากปล่องไฟเก่าเหมือนกัน แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่คนหนึ่งสะอาด อีกคนหนึ่งจะสกปรก” นี่แหละครับ “ตรรกะ” (5555) สรุป “ตรรกะ” คือความสามารถในการแยกแยะ และ หาเหตุผล ที่แท้จริงของเรื่องราวออกมาได้ ผมนี่ก็เล่าเรื่องไปซะยาว ขอวนกลับมาดูคำศัพท์อีกคำดีกว่า นั่นคือ
Logistic (อ่านว่า โล จิส ติก ) แปลว่า “การส่งกำลังบำรุง”
คำนี้เป็นคำนาม มีต้นกำเนิด มาจาก วงการทหาร ที่ต้องมีส่งกำลังบำรุง จำพวก เสบียง และอาวุธยุทโธปกรณ์ ต่างๆ รวมทั้ง กำลังพล เพื่อสนับสนุนการรบ แต่ความหมายของ Logistic ในปัจจุบันมักใช้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งจะหมายถึง ระบบการจัดการขนส่ง สินค้า ข้อมูล หรือ ทรัพยากรอื่นใดก็ตาม Logistic จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง หรือ การเคลื่อนย้ายจากจุดต้นทางไปยังจุดปลายทาง ตามความต้องการของลูกค้า สรุปง่ายๆ คือ ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับการขนส่ง จะเป็นเรื่องโลจิสติก ทั้งสิ้น โดยเป้าหมายของโลจิสติก คือ ลดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาในการขนส่งรวมทั้งลดปัญหาต่างๆ เพื่อให้ใช้ต้นทุนได้ต่ำที่สุด
ความแตกต่างของ Logic กับ Logistic ก็คือ ความหมาย และการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม ผมยังเห็นบางคนสะกดผิดอยู่บ่อยๆ คงต้องฝากให้ใช้ความระมัดระวังกันด้วย เพราะความหมายห่างกันไกลมากตามที่เล่าไว้ยืดยาวข้างต้นนั่นล่ะครับ
อาจารย์บอม
ชนัฐ เกิดประดับ