ในช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินข่าวคราวของการหนีทุน การไม่ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อยู่บ่อยครั้ง จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในบ้านเรา นับวันยิ่งกลายเป็นเหมือนแผลเรื้อรังรอวันประทุออกมา ผมมั่นใจว่า ในอนาคตเราก็ยังคงจะได้ยินข่าวแบบนี้ตามมาอีกหลายกรณีอย่างแน่นอน
การเบี้ยวหนี้หรือหนีทุนนั้น ไม่ได้ก่อปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับทุนเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงผู้ที่ค้ำประกันด้วย ไม่ว่าผู้นั้น จะเป็นญาติมิตร เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ของนักศึกษาเองที่ต้องมารับภาระในการชดใช้หนี้สินและค่าปรับอีกจำนวนมหาศาลแทนนักศึกษาที่ทำผิดเงื่อนไขของทุน
ในมุมของนักศึกษา อาจมองว่าทุนการศึกษาแบบมีเงื่อนไข เป็นเหมือนการพันธนาการที่ทำให้ต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานที่เราไม่อยากจะร่วมงานด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่ ค่าตอบแทนของหน่วยงานนั้นที่น้อยเกินไป หรือ ขาดความก้าวหน้าในหน้าที่การงานก็ตาม แต่อาจะมีผู้แย้งว่า นักศึกษาเองก็ได้รับรู้เงื่อนไขทั้งหมดของทุนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว หากคิดว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็ไม่ควรรับทุนนั้น จะว่าไปทั้งสองฝ่ายก็มีส่วนถูก แล้วแต่ว่าจะมองในมุมของใคร หากคิดในแง่มนุษย์ปุถุชน ที่มีความโลภ โกรธ หลง เป็นพื้นฐานอยู่ในจิตใจ ย่อมหวังไว้ว่า เมื่อตัวเองเรียนจบ ก็อยากจะสร้างครอบครัว เลือกทำงานที่ถนัดและรัก มีรายได้ มีความก้าวหน้า อย่างรวดเร็ว แต่หน่วยงานที่ให้ทุนก็มองว่า เมื่อเราออกทุนส่งให้คุณเรียน เมื่อเรียนจบ คุณก็ควรจะต้องกลับมาทำงานและเป็นกำลังสำคัญให้กับหน่วยงานของเรา เมื่อความต้องการของทั้ง 2 ฝ่ายสวนทางกัน ผู้รับทุนหลายคนจึงตัดสินใจไปกู้เงินก้อนโตมาชดใช้ทุนการศึกษาและค่าปรับ เพื่อแลกกับอิสรภาพในการทำงาน
ผมมองว่าสถานการณ์แบบนี้ ทั้งผู้ให้และผู้รับทุน ล้วนเสียประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ ผู้ให้ทุนก็ไม่ได้บุคคลการที่ตัวเองต้องการมาทำงานด้วย ขณะเดียวกันผู้รับทุนก็ตกเป็นหนี้เป็นสินตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มต้นทำงาน เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากผู้ให้ทุนและผู้รับทุนมีความใจกว้างและเข้าใจกัน ผู้ที่ต้องการหาทุน ควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาเงื่อนไขของทุนที่ตัวเองสนใจให้ละเอียดรอบคอบ ปัจจุบันทุนการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอยู่มากมายทั้งในและต่างประเทศ โดยสามารถค้นหาได้จากอินเตอร์เน็ต หรือ สอบถามโดยตรงจากมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีทั้งทุนของมหาวิทยาลัยเอง (ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างในเรื่องจำนวนเงินหรือเงื่อนไข) และทุนการศึกษาที่มาจากหน่วยงานของรัฐ บริษัท ห้างร้าน องค์กรเอกชน ที่มอบให้ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาคัดเลือก ซึ่งทุนในแบบหลังนี้ มักจะเป็น “ทุนแบบให้เปล่า” โดยไม่มีเงื่อนไขที่ต้องชดใช้คืน ตัวอย่างทุนที่น่าสนใจ เช่น ทุนบุญรอด ซึ่งมอบผ่านมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศมานานกว่า 30 ปี และอีกหลายๆ ทุน (ตามที่ผมได้รวบรวมมาไว้ในแผนภาพด้านล่างนี้) แต่ที่น่าเสียดายคือยังมีนักศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่ทราบว่ามีทุนลักษณะดังกล่าวนี้อยู่ จึงละเลยและมิได้ใส่ใจในการเข้าไปติดต่อขอทุนการศึกษาเหล่านี้กับทางสถาบันการศึกษาหรือกับแหล่งทุนโดยตรง
ทุนการศึกษาแบบให้เปล่า นอกจากจะเป็นการให้อิสระแก่ผู้รับทุนแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความใจกว้างของผู้ให้ทุนด้วย ทุนการศึกษาแบบนี้ เป็นการสร้างความรู้ให้กับคน และให้อิสระในการเลือกทำงานเมื่อเรียนจบ ซึ่งท้ายสุดเขาก็จะตอบแทนคืนกลับสู่สังคม ด้วยการใช้วิชาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาปฏิบัติหน้าที่ในงานที่เขารักอย่างเต็มความสามารถ ไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง หรือนั่งเครียด กลุ้มใจเรื่องหาเงินใช้หนี้ทุน
สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากนักศึกษา ให้คิดก่อนที่จะทำการขอทุนการศึกษา อยากให้มองอนาคตออกไปไกลๆ และศึกษาเงื่อนไขของแต่ละทุนให้ละเอียดรอบคอบ อย่ารีบร้อน หรือสักแต่อยากจะได้ทุน โดยไม่สนใจเงื่อนไขที่เกิดขึ้นหลังจากได้รับทุนแล้ว มิเช่นนั้นทุนการศึกษาที่ได้มา อาจจะกลายเป็นฝันร้ายในระยะยาวให้กับนักศึกษาและครอบครัวได้ อย่างที่ผมบอกทุนการศึกษาแบบให้เปล่ายังมีอีกมาก ลองแวะไปคุยกับมหาวิทยาลัยที่เราเรียนอยู่ อย่าปล่อยให้โอกาสดีๆ ที่จะได้รับทุนการศึกษาให้เปล่าหลุดลอยไป หากเป็นเช่นนั้น บอกได้คำเดียวครับ ว่า “น่าเสียดาย”
อาจารย์บอม ชนัฐ เกิดประดับ
หมายเหตุ : ข้อมูลโดยละเอียดของแต่ละทุนสามารถคลิกเข้าไปดูได้จากลิ๊งค์ข้างล่างนี้ครับ