โดยส่วนตัวผมเชื่อเสมอว่าทุกการตัดสินใจ จะต้องมีเหตุผลบางอย่างซ่อนอยู่ แม้มันจะดูเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยจะสมเหตุผลเท่าไรนักก็ตาม (5555) เช่น บางครั้งเราเลือกไปนั่งกินกาแฟที่ร้านบางร้านก็ไม่ใช่เพราะว่ากาแฟร้านนั้นอร่อยหรือไม่ใช่เพราะว่าเป็นร้านกาแฟที่นั่งสบาย WiFi ดี หรือ สามารถนั่งทำงานแช่ยาวได้อย่างสบายใจ แต่อาจเป็นเพราะว่าร้านกาแฟร้านนั้น คนทำกาแฟหรือบาริสต้าเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีชอบพูดคุยและเรามักจะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากการพูดคุยกับเขา หรือ เขาอาจจะเป็นเพื่อนคุยแก้เหงาที่ดีในยามที่เราไม่มีอะไรจะทำหรือ เวลาเราเพิ่งโดนสาวๆ เทมาสดๆร้อนๆ หรือแม้แต่ แค่ไปนั่งฟังเขาคุยกับลูกค้ารายอื่นๆ เราก็เพลินแล้ว นั่นแสดงว่าทุกครั้งทุกการตัดสินใจของคนเรามักจะมีอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ข้างหลังเสมอ
หากเรากลับมามอง ในฐานะที่เราเป็นคนขายสินค้า เราก็ต้องหาเหตุผลให้ได้ว่า ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเราหรือซื้อของกับเรานั้น เขาตัดสินใจซื้อด้วยเหตุผลใดและแน่นอนเราไม่สามารถที่จะทำให้ทุกคนมาเป็นลูกค้าหรือ Happy กับสินค้าหรือบริการของเราได้ทั้งหมด แต่หากเราคงต้องเลือกว่า คาแรคเตอร์ของเรา บุคคลิกของเรา Passion ของเรา และความถนัดที่เรามีนั้น สามารถตอบสนองลูกค้ากลุ่มไหนได้บ้าง และ ที่สำคัญลูกค้ากลุ่มนั้นต้องเป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อเพียงพอที่จะทำให้ธุรกิจเราอยู่รอดและมีกำไร
(ปล.ลืมบอกไป หากขี้เกียจอ่าน ก็คลิกฟังต่อได้จากลิ๊งค์ข้างล่างนี้เลยครับ 555)
เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสแวะ (จริงๆ คือตั้งใจไปนั่นแหละ) ไปยังร้านกาแฟเล็กๆแห่งหนึ่งซึ่งปรับหน้าของบ้านเขา (โคตรลึกและอยู่ไกลจากตัวเมืองพอควรเลย) ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เป็นหน้าร้าน ผมสังเกตว่าไม่มีชาวบ้านแถวนั้นแวะเวียนมาเป็นลูกค้าของที่ร้านนี้เลย ลูกค้าของเขาส่วนใหญ่ขับรถมาจากในตัวเมืองเชียงใหม่ หรือไม่ก็มาจากกรุงเทพฯ ผมถามเขาว่าแบบนี้ก็ไม่มีลูกค้าขาประจำน่ะสิ เขาบอกว่า สมัยเปิดร้านแรกๆ เคยลองพยายามที่จะขายให้กับชาวบ้านแถบนี้ปรากฏว่ารสชาติของเขาไม่เป็นที่ชอบใจของคนแถวนี้สักเท่าไรนัก ด้วยเหตุที่ว่าหวานน้อยเกินไป ผมถามต่อว่าทำไมไม่ปรับรสชาติเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มนี้ล่ะ ซึ่งดูแล้วว่าน่าจะกลายเป็นลูกค้าประจำกลุ่มใหญ่ ที่มั่นคงกว่าลูกค้าขาจรจากในเมือง คำตอบของเขาน่าสนใจมากทีเดียว เขาบอกผมว่า ถ้าเขาปรับรสชาติเพื่อรองรับชาวบ้านบริเวณนี้ เขาจะต้องไปแข่งกับร้านอื่นๆ ที่มีอยู่หลายร้านในหมู่บ้านแห่งนี้ และ รสชาติ รวมถึงราคาก็เป็นที่คุ้นเคยกับชาวบ้านอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเขาเองก็จะเสียความเป็นตัวตนของร้าน รวมถึง Passion (ในการทำกาแฟที่ดีๆ ) และความถนัดในการชงกาแฟในแบบของเขา ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือราคาที่ชาวบ้านจ่ายอยู่นั้นคือกาแฟแก้วละ 10-15 บาท ซึ่งมันไม่พอที่จะทำให้ร้านของเขา (ที่ใช้เครื่องชงกาแฟและเมล็ดกาแฟ แบบ พรีเมี่ยม) สามารถที่จะอยู่รอดได้
ข้อสรุปของเขาน่าสนใจตรงที่ว่า เขาไม่สามารถตอบสนองลูกค้าทุกคนได้ แต่เขา “เลือก” ที่จะตอบสนองเฉพาะลูกค้าบางกลุ่ม ซึ่งสามารถ “เลี้ยงธุรกิจของเขาให้อยู่รอดได้” และ เป็นลูกค้าที่สอดคล้องกับความถนัดซึ่งเป็นจุดแข็งของเขา ผมนั่งคุยกับเขาสักพัก คิดว่า น่าจะเขียนบันทึกเรื่องนี้ไว้ เพื่อเอาไว้กลับมาอ่านเองว่า เราไมสามารถจะทำให้ทุกคนแฮปปี้ กับเราได้ แต่เราควรกลับมามองตัวเราก่อนว่า เรามีคุณสมบัติ ที่เหมาะจะทำให้คนกลุ่มไหน แฮปปี้ โดยที่เราไม่เสียความเป็นตัวตนของเรา และคนกลุ่มนั้น ก็มีกำลังพร้อมที่จะจ่ายให้กับ ความถนัดและ Passion ของเราด้วย ข้อคิดจากร้านกาแฟเล็กๆ แห่งนี้ เราๆ ท่านๆ อาจลองนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตในช่วงโควิด นี้ก็ได้นะครับ น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
@ajbomb
3-1-2021