หนังสือน่าอ่าน เล่มที่ 3 ที่ผมอ่านจบในปี 2560 ชื่อว่า มนุษยธรรมกับการต่อสู้ทางชนชั้น เขียนโดย “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” หนังสือเล่มนี้แม้ไม่ได้ระบุปีตีพิมพ์ แต่ประเมินจากเนื้อหาแล้วคาดว่าน่าจะถูกเขียนและได้รับการตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2517 นอกจากเนื้อหาที่มีความดุดันตรงไปตรงมาแล้ว ในส่วนของ “ลีลา” การเขียนก็แตกต่างจาก “อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ในยุคปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเพราะหากเทียบเวลาที่ อ. เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนหนังสือเล่มนี้ ท่านคงอยู่ในช่วงอายุประมาณ 20 กว่าๆ เท่านั้น ดังนั้นสไตล์การเขียนและการถ่ายทอดย่อมมีความร้อนแรงพลุ่งพล่านไปตามวัย สำหรับผมในฐานะคนที่ชื่นชอบและติดตามงานเขียนของท่านมาตลอด ต้องถือว่าโชคดีมากๆ ที่ได้มีโอกาสอ่านงานเขียนของท่านเล่มนี้
ในหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้พยายามเล่าถึงแนวทางการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาหลังจากเหตุการณ์ตุลา 2516 ซึ่งได้ชี้ให้เห็นว่าจะต้องมีการปรับตัวให้ติดดินและเข้าถึงประชาชนให้มากกว่านี้ นอกจากนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงสาเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างขบวนการนักศึกษาในมหาวิทยาลัยกับในส่วนของนักเรียนอาชีวะ ที่มีมาจากพื้นฐานและแนวคิดที่แตกต่างกัน ท่านยังได้พูดถึงปัญหาที่ทำให้การเคลื่อนไหวของนักศึกษาในสมัยนั้น ไม่มีพลังพอ เพราะไม่สามารถสร้างแนวร่วมกับประชาชนได้ ทำให้เกิดการแทรกแซงทำลายจากฝ่ายรัฐได้โดยง่าย
สรุปหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ ในแง่การบันทึกประวัติศาสตร์เสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์เดือนตุลา และการวิเคราะห์ปมขัดแย้งในมุมมองของผู้เขียนอย่างตรงไปตรงมาในฐานะผู้นำนักศึกษาในสมัยนั้น ถือเป็นหนังสือดีที่น่าอ่านมากๆ อีกเล่มหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ชื่นอบงานเขียน ของ อ.เสกสรรค์ประเสริฐกุล ถือว่าเป็นบุญตาที่ได้มีโอกาสอ่านความคิดมุมมองและได้สัมผัสสไตล์การเขียนของอาจารย์ในวัยหนุ่มครับ
(หนังสือหนา 120 หน้า ราคาปก 6 บาท พิมพ์ประมาณปี 2517 ชมรมหนังสือแสงจันทร์)